นักเรียนไทยกลุ่มใหญ่ที่สมัครเรียนออสเตรเลียช่วงปี 2022 ที่ผ่านมาหลังออสเตรเลียประกาศเปิดประเทศเริ่มทยอยจบคอร์สกันหลายคน ทีม Hub 101 เองได้รับคำถามหลังไมค์จากทั้งนักเรียนเก่าและใหม่เกี่ยวกับรายละเอียดการต่อวีซ่า รวมทั้งทางเลือกทั้งหมดที่มี ทั้งนี้เพื่อเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียที่เหมาะสมกับเงื่อนไข รวมทั้งความต้องการส่วนตัวมากที่สุด
ตามสถิติแล้วนักเรียนไทยที่เดินทางไปเรียนออสเตรเลียครั้งแรกส่วนใหญ่มักจะสมัครเฉพาะหลักสูตรภาษาอังกฤษ เมื่อไปถึงและสอบวัดระดับก็จะไปตกอยู่ที่ระดับ Beginner หรือ Elementary จะมีบ้างที่ไปอยู่ที่ Pre-intermediate หรือสูงกว่านั้น เรียนไปเรื่อย ๆ ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ ส่วนมากจะไปจบอยู่ที่ราว Upper-intermediate ซึ่งเป็นระดับที่ผลคะแนนสามารถใช้ยื่นสมัครเข้าเรียนหลักสูตรวิชาชีพได้ อาจจะมีบ้างบางคนที่คะแนนยังไม่ถึงเกณฑ์ แต่ก็ต้องเรียนปรับภาษาอีกเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งระดับภาษาตรงนี้จะส่งผลกับตัวเลือกหลักสูตรที่สามารถสมัครได้ในการต่อวีซ่านั่นเอง
ส่วนใครที่สมัครเรียนครั้งแรกเป็นหลักสูตรวิชาชีพ (Certificate / Diploma ต่าง ๆ ) อย่าพึ่งน้อยใจ แนะนำข้ามไปอ่านที่ OPTION 3 ได้เลยจ้า
ก่อนเข้าเนื้อหาต้องมี disclaimer ไว้ก่อนว่าบทความนี้เขียนโดยอ้างอิงตามสถิตินักเรียนไทยส่วนใหญ่ที่มักสมัครวีซ่านักเรียนออสเตรเลียแบบยาว โดยมีเป้าหมายเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานระหว่างเรียน ทำงานหาค่าขนม แต่ในขณะเดียวกันก็ได้วุฒิและทักษะที่นำมาปรับใช้ได้จริงในเส้นทางอาชีพทั้งในไทยและต่างประเทศ
OPTION 1- สมัครเฉพาะหลักสูตรภาษาต่อ (English Standalone)
ถึงจะเป็นข้อแรกแต่ต้องออกตัวก่อนว่าเป็นตัวเลือกที่ไม่แนะนำเลยแม้แต่น้อย เพราะหลังจากเรียนภาษามาแล้วระยะหนึ่ง นักเรียน 99% จะสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพสังคมที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ ไม่ว่าการสื่อสารในชีวิตประจำวัน พูดคุยกับเพื่อน หรือปรับตัวเข้ากับคลาสเรียนที่อาจารย์สอนเป็นภาษาอังกฤษ หากจะยังเรียนภาษาต่อไปอีก ผลที่ตามมาแน่นอนคือความเบื่อจากการเรียนเนื้อหาที่ง่ายเกินไป สุดท้ายจะพาลทำให้ไม่อยากเข้าเรียนซะเปล่า ๆ
นอกจากนี้ตารางเรียนภาษาที่ใช้เวลา 4-5 วันต่อสัปดาห์ จะทำให้แบ่งเวลาไปพักผ่อน ท่องเที่ยว หรือทำงานพาร์ทไทม์ได้น้อยกว่าการเรียนวิชาชีพที่มีตารางเรียนเพียงสัปดาห์ละ 2-3 วัน อีกด้วย
สุดท้ายระยะเวลาของวีซ่าที่ได้รับ รวมทั้งค่าธรรมเนียมในการต่อวีซ่าครั้งถัดไปก็จะสูงขึ้นแบบเท่าตัว ขยายความตรงนี้ว่า นักเรียนต่างชาติสามารถสมัครต่อวีซ่านักเรียนในออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ การต่อวีซ่านักเรียนจากในออสเตรเลียครั้งแรกนั้น จะเสียค่าธรรมเนียมตามปกติ A$710 (ข้อมูล ณ วันที่ 21 สิงหาคม 2023) แต่การต่อวีซ่านักเรียนในออสเตรเลียครั้งถัดไปจะมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากปกติอีก A$700 ต่อครั้ง หรือรวมประมาณ A$1,410 นั่นเอง
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ A สมัครเรียนภาษาจากไทย 6 เดือน เมื่อเรียนจบอยากต่อวีซ่าเป็นคอร์สภาษาอย่างเดียวอีก 6 เดือน ก็จะได้รับวีซ่าเพิ่มครอบคลุมแค่ระยะเวลาที่สมัครเพิ่ม พอเรียนภาษาบล็อกที่สองนี้จบ เกิดอยากต่อวีซ่าอีกครั้งแบบยาว ก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมมากถึง A$1,410
เทียบกับ B สมัครเรียนภาษาจากไทย 6 เดือน เรียนจบ สมัครเรียนแพคเกจ (OPTION 2) หรือสมัครเรียนวิชาชีพ (OPTION 3) ไปเลย ได้รับวีซ่าครอบคลุมระยะเวลาหลักสูตรที่กินเวลาเป็นปีอยู่แล้ว เสียค่าธรรมเนียมวีซ่าตามปกติเพียง A$710 แต่จะสามารถอยู่ในออสเตรเลียได้แบบยาว ๆ ไม่ต้องกังวลเรื่องต่อวีซ่าหรือเก็บเงินจ่ายค่าวีซ่าอีกพันกว่าเหรียญ
สำหรับนักเรียนที่บอกว่า 'พี่คะ/ครับ เรียนภาษามาแล้ว 6 เดือนก็จริง แต่ยังไม่มั่นใจอยู่ดี ขอเรียนภาษาอีกหน่อยไม่ได้หรอ' คำตอบคือไม่ต้องกังวลเลย ทางเลือกมีอยู่เสมอ เลื่อนดูข้อต่อไปได้เลย
OPTION 2 - สมัครภาษา + วิชาชีพ (Packaged)
ทางเลือกนี้เหมาะสำหรับคนที่เรียนเฉพาะหลักสูตรมาภาษาช่วงที่ถือวีซ่านักเรียนตัวแรก ไม่ว่าจะระดับภาษาถึงเกณฑ์แล้วหรือยังไม่ถึงก็ตาม
นักเรียนที่ระดับภาษายังไม่ถึงเกณฑ์สามารถยื่นผลภาษาให้สถาบันที่ต้องการเข้าเรียนวิชาชีพประเมินได้ว่า จำเป็นต้องเรียนภาษาปรับพื้นฐานอีกกี่สัปดาห์จนกว่าจะสามารถเข้าเรียนวิชาชีพได้ หรือหากใครที่อาจมีผลภาษาโอเคแล้ว แต่ยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ อยากลงภาษาเพิ่มอีกซักนิดเพื่อปรับตัวก่อนเข้าเรียนวิชาชีพก็สามารถทำได้เช่นกัน
นักเรียนไทยส่วนมากมักตัดสินใจได้ตั้งแต่ช่วงถือวีซ่าตัวแรกว่าจะสมัครเรียนต่อหลังเรียนจบหรือไม่ และต้องการวีซ่าครอบคลุมหลักสูตรระยะยาวมั้ย คำตอบส่วนใหญ่คือต้องการอยู่ต่อและต้องการวีซ่าระยะยาว เนื่องจากระยะเวลาของวีซ่าที่ได้รับจะเกี่ยวโยงกับระยะเวลาหลักสูตรที่ลงสมัคร ดังนั้นตัวเลือกยอดนิยมคือการสมัครหลักสูตรวิชาชีพที่มีระยะเวลา 1 ปีโดยเฉลี่ย หากต้องการระยะเวลาวีซ่าที่ยาวขึ้นอีกก็สามารถแพคเกจวิชาชีพหลายตัวเข้าไปด้วยกันได้เลย เช่น Certificate IV + Diploma + Advanced Diploma เป็นต้น ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าระยะเวลาหลักสูตรแต่ละสาขาวิชา แต่ละสถาบันจะแตกต่างกันไป ดังนั้นแนะนำให้ตรวจเช็คกับสถาบันที่ต้องการสมัครอีกครั้ง
ตามสถิติที่ผ่านมานักเรียนที่จำเป็นต้องเรียนภาษาเพิ่มมักใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 10-20 สัปดาห์เท่านั้น ก็สามารถเข้าเรียนระดับวิชาชีพได้ตามความตั้งใจ ทั้งนี้ทั้งนั้นพัฒนาการของนักเรียนแต่ละคนก็ขึ้นอยู่กับความตั้งใจเรียนและหมั่นฝึกฝนด้วย
<<เกร็ดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลภาษา>>
นักเรียนที่เลือกสมัครสถาบันเลเวล 1 ตามระบบ SSVF นั้น สามารถใช้ผลภาษาจากคอร์สภาษาเดิมยื่นให้สถาบันปลายทางพิจารณาได้เลย หากสถาบันที่เลือกสมัครเรียนต่อเป็นสถาบันเดิมก็สบายหน่อย เพราะไม่ต้องทำแบบทดสอบใหม่ รร.สามารถแนะนำ study plan ได้เลย แต่หากเลือกสมัครสถาบันอื่น สถาบันนั้น ๆ มีสิทธิที่จะเลือกประเมินจาก certificate ของสถาบันเดิม หรือจะแจ้งให้นักเรียนทำเทสเพื่อประเมินอีกครั้งก็ได้
ส่วนนักเรียนที่เลือกสมัครสถาบันเลเวล 2 และ 3 นั้นจำเป็นต้องสอบ IELTS ตามเงื่อนไขการสมัครวีซ่า ถึงแม้ผลภาษาเดิมอาจถึงเกณฑ์แล้ว แต่หากสอบ IELTS แล้วยังไม่ถึง 5.5 ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานเข้าเรียนวิชาชีพ ก็ยังจะต้องเรียนภาษาเพิ่มเติมอยู่ดี รายละเอียดนี้ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.hub101study.com/post/what-is-ssvf
ข้อดีของการเลือกสมัครแพคเกจคือ มีเวลาปรับพื้นฐานภาษาเพิ่มเติม และได้รับวีซ่าระยะยาว
ส่วนข้อเสียน่าจะมีเพียงข้อเดียวคือ ค่าใช้จ่ายก้อนแรกที่สูงขึ้น ประการแรกคือค่าประกันสุขภาพที่คำนวนจากระยะเวลาหลักสูตร ยิ่งสมัครนาน ค่าประกันก็จะสูงขึ้น ประการที่สองคือค่ามัดจำ COE ที่เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะมัดจำเฉพาะวิชาชีพ (แบ่งจ่ายรายเทอม เฉลี่ยก้อนแรกอยู่ที่ราว A$500 - A$1,xxx แล้วแต่โปรโมชั่นแต่ละสถาบัน ณ เวลาที่สมัคร) จะต้องบวกค่าเรียนภาษาเพิ่มเข้ามาด้วย (เฉลี่ยประมาณ A$2xx - A$3xx ต่อสัปดาห์ แล้วแต่โปรโมชั่น ณ เวลาที่สมัคร)
นอกจากนี้การสมัครภาษาก่อนเริ่มวิชาชีพยังช่วยเรื่องเงื่อนไข gap ช่วงระหว่างหลักสูตรด้วย เนื่องจากสถาบันต่าง ๆ จะกำหนด intake หรือวันเปิดเทอมหลักสูตรวิชาชีพรายเดือนบ้าง ราย 3 เดือนบ้าง และเงื่อนไข Immigration กำหนดให้นักเรียนสามารถเว้นช่วงว่างระหว่างหลักสูตรได้สูงสุดไม่เกิน 8 สัปดาห์ หากใครเรียนคอร์สเดิมจบแล้ว แต่กว่าหลักสูตรใหม่จะเริ่มเรียนก็เกิน gap ที่กำหนดไว้ ก็สามารถเลือกสมัครคอร์สภาษาแทรกเข้าไปเพื่อปิดระยะเวลาตรงนี้ได้
เอาล่ะ, ถึงตรงนี้ใครที่ภาษาแน่น ๆ ปึ้ก ๆ พร้อมลุยวิชาชีพแบบเต็มตัว ดูตัวเลือกต่อไปได้เลย
OPTION 3 - สมัครวิชาชีพ (Vocational Training) อย่างเดียว
ภาษาแน่นแล้วก็ก้าวต่อไปสู่หลักสูตรระดับที่สูงมากขึ้น ยอดนิยมที่สุดน่าจะเป็นหลักสูตรวิชาชีพหรือที่มักเรียกกันว่า Certificate หรือ Diploma หลักสูตรวิชาชีพนี้เทียบคร่าว ๆ ได้กับสายวิชาชีพ วุฒิปวช. ปวส. บ้านเรานั่นเอง สามารถใช้วุฒิมัธยมปลายสมัครได้เลย แต่หากมีวุฒิปริญญาตรีหรือวุฒวิชาชีพของไทยอยู่แล้วก็สมัครได้เหมือนกัน เพียงแต่ดูซักหน่อยว่าเนื้อหาไม่ซ้ำกัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงของการสมัครวีซ่า
เกณฑ์สมัครวิชาชีพนั้นไม่อยากเลยเพียงแค่เรามีผลภาษาระดับ Upper-intermediate หรือมีผลคะแนน IELTS 5.5 ก็สามารถสมัครเรียนได้เลย ยังไงก็ตามบางสถาบันอาจมีเงื่อนไขเฉพาะตัวของทางสถาบันเพิ่มเติม เช่น การสัมภาษณ์, portfolio หรืออื่น ๆ
หลักสูตรวิชาชีพจริง ๆ แล้วแบ่งแยกย่อยลงไปอีกหลายระดับตั้งแต่ Certificate I, II, III, IV ไปจนถึง Diploma และ Advanced Diploma ส่วนมากจะเปิดสอนเริ่มต้นที่ Certificate IV ไปจนถึง Advanced Diploma โดยมีระยะเวลาหลักสูตรละ 1 ปี เป็นส่วนใหญ่ นักเรียนสามารถเลือกได้เลยว่าต้องการเริ่มเรียนที่ระดับไหน และต้องการสมัครรวมทั้งหมดกี่หลักสูตร
นอกจากนี้สาขาวิชาที่เปิดสอนในแต่ละสถาบันก็มีความหลากหลาย ไล่ไปตั้งแต่สายงานธุรกิจการจัดการทั่วไป ไปจนถึงสายงานเทคนิคที่ถือเป็นทักษะขาดแคลน ซึ่งสาขาวิชาเหล่านี้จะส่งผลโอกาสการต่อยอดวีซ่าทำงานหลังเรียนจบของนักเรียนด้วย ถือว่าการเลือกสาขาวิชานี่แหละคือปัจจัยที่ควรนึกถึงมากที่สุดข้อนึง
การเลือกสมัครวีซ่าระยะยาวอาจทำให้มีค่าใช้จ่ายประกันที่สูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับระยะเวลาของวีซ่าที่ได้รับแล้วก็ถือว่าคุ้มน่าดู นอกจากไม่ต้องคอยกังวลเกี่ยวกับการเตรียมตัวต่อวีซ่าแล้ว ช่วงเรียนวิชาชีพที่มีตารางเรียนเพียงสัปดาห์ละ 1-3 วัน นักเรียนยังสามารถแบ่งเวลาไปท่องเที่ยว พักผ่อน รวมทั้งทำงานพาร์ทไทม์ได้มากขึ้นด้วย
ยังไงก็ตามนักเรียนไทยส่วนใหญ่อาจยังกังวลเรื่องผลภาษาสำหรับการสมัครเรียนและวีซ่า ตามระบบพิจารณาวีซ่า SSVF นักเรียนที่สมัครหลักสูตรระดับวิชาชีพนั้น จำเป็นต้องมีผล IELTS 5.5 สำหรับแสดงประกอบการสมัครวีซ่า แต่ก็มีกรณียกเว้นอยู่บ้าง คือ
สมัครเรียนสถาบันเลเวล 1
เคยจบหลักสูตรระดับ Certificate IV ขึ้นไปจากออสเตรเลียมาไม่เกิน 2 ปี
นอกจากนี้การเลือกสาขาวิชาสมัครเรียนก็ควรจะเชื่อมโยงกับประวัติการเรียนการทำงานที่ผ่านมาของตนเองในอดีตด้วย เพื่อเป็นไปตามเงื่อนไข GTE ของระบบพิจารณาวีซ่า
อ้อ, สำหรับใครที่เคยเรียนวิชาชีพจบมาแล้ว ก็ยังสามารถสมัครต่อวิชาชีพอีกได้เหมือนกันนะคะ เพียงแต่มีข้อควรระวังว่าควรจะเลือกสาขาวิชาที่สมเหตุผลเหมาะกับประวัติ และเลือกสมัครระดับวุฒิที่ไม่ต่ำกว่าวุฒิที่เคยเรียนมาแล้ว
ปัจจุบันหลายสถาบันมีโปรโมชั่นมัดจำค่าเรียนเพื่อออก COE สำหรับยื่นวีซ่าเริ่มต้นที่ประมาณ A$250 เท่านั้น อีกทั้งค่าเรียนเฉลี่ยต่อเทอมก็เริ่มต้นประมาณ A$1,xxx เท่านั้น ถือเป็นตัวเลขที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับนักเรียนที่เก็บเงินจ่ายค่าเรียนเอง
ใครไม่แน่ใจว่าจะสาขาวิชาไหนจะเหมาะกับเรา เคยเรียนสายนี้มาแล้ว จะเปลี่ยนไปเรียนอีกสายวิชานึงได้มั้ย สถาบันไหนที่เปิดสอนหลักสูตรที่เราอยากสมัคร ลองปรึกษา Hub 101 เพื่อเปรียบเทียบข้อมูลได้นะคะ
OPTION 4 - สมัคร Degree / Graduate Diploma
อันที่จริงรายละเอียดของทางเลือกนี้ไม่ต่างจากข้อที่แล้วเท่าไหร่ จะมีข้อแตกต่างหลัก ๆ เพียง เกณฑ์คะแนนภาษาที่สูงขึ้น ค่ามัดจำ COE ที่สูงขึ้น รวมทั้งค่าเรียนที่สูงขึ้นนั่นเอง
OPTION 5 - วีซ่า Post-study หรือวีซ่าทำงานประเภทอื่น ๆ
ข้อนี้จะเป็นทางเลือกของคนที่เรียนจบหลักสูตรวิชาชีพสาขาที่ถือเป็นทักษะขาดแคลน รวมทั้งคนที่เรียนจบหลักสูตรปริญญา ซึ่งจะมีรายละเอียดเงื่อนไขที่แตกต่างกันไป เช่น มีผลคะแนนภาษาตามเกณฑ์ เคยเก็บชั่วโมงการทำงานมาตามที่กำหนด วุฒิการเรียนตรงตามเงื่อนไขทั้งระดับวุฒิและสาขาวิชา เป็นต้น
เอาล่ะค่ะ, ทางเลือกทั้ง 5 แบบนี้น่าจะช่วยเป็น guideline เบื้องต้นให้กับน้อง ๆ ที่กำลังมีความคิดวางแผนต่อวีซ่าออสเตรเลีย แต่ถ้ายังตัดสินใจไม่ได้หรืออยากสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ Hub 101 ได้ทุกช่องทาง รับรองว่าดูแลใกล้ชิดไม่ให้ระยะทางต้องเป็นอุปสรรคอย่างแน่นอน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Hub 101 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ทุกวัน ปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
Tel: 081 441 8448
Line ID: hub101study
Facebook: facebook.com/Hub101StudyInAustralia
Instagram: hub_101_study
Comentários