top of page
  • Writer's pictureChut N

ภาษาอังกฤษกับนักเรียนไทย สอบ IELTS ดีมั้ย ช่วยลดความเสี่ยงวีซ่าออสเตรเลียจริงรึเปล่า?

เกาะกระแสข่าวประเทศไทยรั้งท้ายอันดับโลก โดยได้รับการจัดอันดับ 101 จากทั้งหมด 113 ประเทศในการจัดอันดับทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษประจำปี 2023


ปัญหาด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษในระบบการศึกษาไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงกันมาโดยตลอดไม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงฝ่ายบริหาร และ/หรือ นโยบายมากี่ครั้งกี่หน ถึงแม้วิชาภาษาอังกฤษจะถูกบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภาคบังคับตั้งแต่ชั้นประถม ต่อเนื่องไปจนถึงมัธยม แถมหลายมหาวิทยาลัยก็บังคับนักศึกษาปีหนึ่งเรียนภาษาอังกฤษอีก นับนิ้วไปมาแล้ว นักเรียนไทยคนนึงที่เข้าเรียนในระบบการศึกษาต่อเนื่องตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิยาลัยก็น่าจะมีโอกาสได้เรียนภาษาอังกฤษยาวนานเป็น 10 ปี แต่จนแล้วจนรอดส่วนใหญ่ก็ยังมีปัญหา ไม่สามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษในชีิวิตจริงได้อยู่ดี


สาเหตุหลักของความ 'ไม่ชอบ' ภาษาอังกฤษนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากระบบการศึกษาของไทยที่มักให้ความสำคัญกับการวัดผลเชิงวิชาการผ่านการทดสอบทางทฤษฎี ไม่ว่าไวยากรณ์ (grammar) หรือการท่องศัพท์ (vocabulary) โดยไม่ได้สนใจว่านักเรียนจะประยุกต์ความรู้จากในห้องเรียนไปใช้ในชีวิตจริงได้หรือไม่ เน้นว่าได้คะแนนสูงไว้ก่อน เอาไปสอบเรียนต่อไว้ก่อน แต่ในชีวิตจริงจะใช้ภาษาได้รึเปล่าก็เป็นอีกเรื่องนึง


นอกจากนี้กิจกรรมในห้องเรียนยังไม่ค่อยเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมมากนัก มักเป็นการเรียนแบบนั่งฟัง นั่งทำแบบฝึกหัดซะมาก จึงไม่แปลกที่นักเรียนจะง่วงเหงาหาวนอนกันในคาบเรียน ส่วนตัวนักเรียน, เมื่อเรียนแล้วไม่เห็นจะเอาไปทำอะไรต่อได้ ก็พาลให้เรียนไม่สนุก สุดท้ายก็ไม่อยากเรียน แถมไม่อยากสอบไปซะอย่างงั้น โชคยังดีที่ปัจจุบันมีอินเตอร์เน็ตและแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Youtube, Facebook รวมทั้ง TikTok ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการฝึกภาษาด้วยตนเอง ช่วยให้นักเรียนหลายคนมีโอกาสได้สัมผัสภาษาอังกฤษในรูปแบบที่ตัวเองถนัดและสนใจ บางคนอาจดูนักแคสต์เกม บางคนดูสัมภาษณ์นักร้องนักแสดง บางคนดูคอนเทนต์ Youtuber TikToker ทั่วไปนี่ล่ะแต่เป็นภาษาอังกฤษ เมื่อความสนใจบังเกิดก็อยากจะฝึกฟังให้เข้าใจ ฝึกพูดตาม ทำตาม เพื่อจะได้เอ็นจอยกับคอนเทนต์ได้เต็มที่ เกิดเป็นพื้นฐานภาษาที่พอจะเอาไปปรับใช้ในบริบทชีวิตส่วนตัวได้บ้างโดยปริยาย


แต่ความฝังใจของบรรยากาศการเรียนภาษาอังกฤษแบบเคร่งเครียดในห้องเรียนก็ยังคงอยู่ แค่ได้ยินคำว่า #สอบภาษา ก็พากันขยาดไปตั้งแต่แรก ยิ่งพูดถึงการสอบภาษามาตรฐานระดับนานาชาติอย่าง IELTS และ TOEFL ยิ่งไปกันใหญ่ ถ้าเลี่ยงได้คือเลี่ยงกันเกือบทั้งนั้น ส่งผลให้กลายเป็นอุปสรรคทางด้านจิตใจที่สำคัญอย่างหนึ่งในสถานการณ์จำเป็นอย่างการสมัครเรียนต่อ สมัครงาน หรือสมัครวีซ่า


ความกลัวนี้ถือว่าเข้าใจได้ จากประสบการณ์ของทีม Hub 101 ที่พูดคุยกับนักเรียนมาเป็นสิบปี นักเรียนส่วนมากจะมี 2 เหตุผลที่ต้องการเลี่ยงการสอบภาษา คือ ความไม่มั่นใจ และค่าใช้จ่ายในการสอบ


ความไม่มั่นใจ - ข้อนี้ก็น่าจะพอเข้าใจได้จากคำอธิบายด้านบน แน่นอนว่าภาษาอังกฤษนั้นไม่ใช่ภาษาที่ใช้เป็นหลักในสังคมไทย ถึงแม้โรงเรียนจะบรรจุวิชาเรียนลงในหลักสูตร แต่ก็ต้องยอมรับว่ามาตรฐานและวิธีการสอนของแต่ละแห่งนั้นแตกต่างกันมาก อีกทั้งพื้นเพครอบครัวและโอกาสในการเข้าถึงการเรียนการสอนที่มีคุณภาพของแต่ละคนก็แตกต่างกัน เกิดเป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไปอีก


ใครที่ครอบครัวพอมีฐานะ ได้เรียนพิเศษ ได้ไปซัมเมอร์ต่างประเทศ โรงเรียนมีครูต่างชาติ มีโอกาสเข้าถึงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ก็อาจจะพอมีพื้นฐานบ้าง กลุ่มนี้ก็พอมีความมั่นใจที่จะไปลองทำข้อสอบดูหากจำเป็น ส่วนใครที่ไม่ได้มีโอกาสฝึกฝนหรือเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพมากนัก ก็มักหนักใจเมื่อต้องไปสอบให้ได้คะแนนตามเป้าหมาย ทั้งนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการสอบเองก็ค่อนข้างสูง เกิดเป็นเหตุผลข้อถัดไป


student-studying-in-library


ค่าใช้จ่าย - ข้อนี้จะขอโฟกัสที่ค่าสอบในประเทศไทย โดยเน้นไปที่ IELTS และ TOEFL ที่เป็นตัวเลือกอันดับต้นของนักเรียนไทยเมื่อจำเป็นต้องสมัครเรียนต่อหรือวีซ่า


  • IELTS - 7,350 บาท

  • TOEFL - USD 215 หรือประมาณ 7,5xx บาท (ปัจจุบันการสอบแบบ iBT ไม่สามารถใช้ยื่นวีซ่าออสเตรเลียได้)

(ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2023)


นี่ยังไม่รวมค่าเดินทางไปศูนย์สอบ ค่าหนังสือ ค่าติวเตอร์ และอื่น ๆ ใครคะแนนไม่ผ่านตามเกณฑ์ขั้นต่ำอาจต้องสอบมากกว่า 1 ครั้งอีกตะหาก บวกไปมาแล้ว ยังไม่ทันได้ไปไหน ก็มีค่าใช้จ่ายเฉียดหมื่นกันแล้ว ตัวเลขนี้สำหรับบางคนอาจดูไม่มากนัก แต่สำหรับอีกหลายคนเทียบสัดส่วนอาจเท่าหรือเกือบเท่าค่าใช้จ่ายทั้งเดือน ถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว


man-holding-empty-leather-wallet


ถึงตรงนี้หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วมันเกี่ยวยังไงกับการสมัครเรียนและวีซ่าออสเตรเลียกันล่ะ นี่พี่ ๆ Hub 101 กำลังจะบอกว่าเราไม่ควรสอบ IELTS งั้นหรอ ไม่ใช่เลย! สาเหตุที่ต้องปูเรื่องมาถึงตรงนี้เพื่ออธิบายที่มาที่ไปว่าทำไมผลภาษานั้นถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกับใบสมัครวีซ่าของนักเรียนหนึ่งคน


ใครที่เคยพูดคุยกับทีมงาน Hub 101 น่าจะเคยได้รับคำแนะนำให้ลองสอบ IELTS ดูซักครั้งก่อนยื่นวีซ่า โดยเฉพาะคนที่ต้องการสมัครเรียนระยะยาว (ภาษา+วิชาชีพ / วิชาชีพอย่างเดียว / อุดมศึกษา) โดยมีเหตุผลหลักเพื่อลดความเสี่ยงในการยื่นวีซ่า


รายละเอียดเงื่อนไขการพิจารณาวีซ่านักเรียนออสเตรเลียนั้นเคยพูดถึงในหน้าเพจเป็นประจำ ต้องขอแนบลิ้งค์ไว้ให้ลองไปอ่านกันแทน (รายละเอียดเพิ่มเติมดูที่ https://shorturl.at/STV58) สรุปคร่าว ๆ คือ ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศเลเวล 3 ซึ่งแปลว่าการสมัครสถาบันเกือบจะ 90% ในระดับวิชาชีพและอุดมศึกษานั้นจำเป็นต้องใช้ผลภาษา จริงอยู่ที่นักเรียนอาจเลี่ยงไปสมัครเฉพาะสถาบันเลเวล 1 เพื่อไม่ต้องสอบภาษาก็ได้ แต่วิธีนี้ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ตัวเลือกสถาบันน้อย อาจไม่มีหลักสูตรที่ต้องการสมัคร หรือไม่มีแคมปัสในเมืองที่สนใจ เป็นต้น นอกจากนี้สถาบันเลเวล 1 หลายแห่งก็ต้องการรักษาสถานะของตัวเองไว้ ดังนั้นจึงอาจมีขั้นตอนและเงื่อนไขการคัดเลือกนักเรียนที่เข้มงวดมากกว่าปกติ บางเคสกินเวลาหลายสัปดาห์กว่าจะได้จดหมายตอบรับ หรืออาจขอพิจารณา GTE ก่อนอนุมัติชำระเงินเพื่อออก COE ซึ่งพูดได้ว่าอาจไม่ใช่ตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุดสำหรับทุกคน


สาเหตุที่ Hub 101 มักแนะนำการสอบ IELTS นั้นอ้างอิงตามสถิติและแนวโน้มผลวีซ่าของนักเรียนที่ผ่านมานับตั้งแต่ช่วงเปิดประเทศหลังโควิด นอกจากนี้ยังเป็นการตีความทิศทางนโยบายการพิจารณาวีซ่านักเรียนตามข้อมูลที่ Department of Home Affairs (DHA / กระทรวงกิจการภายใน) หรือที่เรียกกันติดปากว่า 'สถานทูต' มักอัพเดทให้กับเหล่าเอเจ้นท์อยู่เสมอ


อุตสาหกรรมการศึกษาถือเป็นแหล่งรายได้อันดับต้น ๆ ของออสเตรเลียในระดับ Top 3 นอกจากนี้ยังถือเป็นเครื่องมือในการคัดเลือกบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานของประเทศอีกด้วย ประชากรส่วนใหญ่ของออสเตรเลียมีพื้นเพเป็นผู้อพยพ (Immigrants) ไม่ว่าจะเริ่มจากการมาเรียนต่อ มาทำงาน แต่งงาน หรือโยกย้ายถิ่นฐานตามสมาชิกในครอบครัวก็ตาม วีซ่านักเรียนถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการคัดกรองบุคลากร รวมทั้งใช้ในการพัฒนาทักษะของนักเรียนต่างชาติให้กลายเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของออสเตรเลีย ไม่ว่าในฐานะพนักงานพาร์ทไทม์ หรือพนักงานประจำในกรณีที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีพก็ตาม เมื่อเรารู้วัตถุประสงค์ของทางการแล้ว ก็สมเหตุผลดีที่จะคิดต่อไปว่าผู้สมัครวีซ่าที่มีทักษะภาษาอังกฤษในระดับที่พอสื่อสารได้ก็น่าจะเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจของออสเตรเลียมากกว่า และเมื่อคิดต่อไปอีก ก็สมเหตุผลดีที่คนเหล่านี้ก็น่าจะได้รับ priority ในการพิจารณาวีซ่าเพื่อเข้าไปเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจของออสเตรเลียในฐานะพนักงานพาร์ทไทม์ ถ้าใครสามารถพัฒนาศักยภาพทั้งด้านอาชีพ รวมทั้งภาษาไปได้ดีขึ้นอีกในอนาคต ก็สามารถต่อยอดไปสู่โอกาสด้านอาชีพหรือวีซ่าประเภทอื่นนอกจากวีซ่านักเรียนได้


คำถามคืออะไรล่ะจะเป็นหลักฐานแสดงให้สถานทูตเห็นว่าเรามีทักษะภาษาที่พอไปวัดไปวาได้ นอกจากสร้างรายได้ให้ออสเตรเลียผ่านค่าเรียนและค่ากินอยู่ระหว่างเรียนแล้ว เรายังสามารถใช้เวลาว่างนอกเหนือตารางเรียนลองทำงานพาร์ทไทม์หาประสบการณ์ เป็นการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นออสเตรเลียไปได้อีกทาง ตัวนักเรียนเองก็ได้เรียนรู้สภาพแวดล้อมการทำงานระดับอินเตอร์ เปิดโอกาสสร้างคอนเนคชั่น และเพิ่มโปรไฟล์เมื่อกลับมาสมัครงานที่ไทยไปในตัว เรียกว่า win-win situation สำหรับทั้งออสเตรเลียและนักเรียนต่างชาติ


บางคนอาจเถียงว่า 'อ้าวพี่ แล้วถ้าผลภาษาไม่ดีจะทำยังไง ก็เอาไปยื่นวีซ่าไม่ได้อยู่ดีป่ะ' คำตอบคือผลวีซ่าที่ไม่ถึงเกณฑ์ที่สถาบันหรือสถานทูตกำหนดก็ยังมีข้อดีอยู่


ประการแรก- เราจะพอทราบว่าทักษะไหนที่เราต้องไปฝึกฝนเพิ่ม บางคนอาจจะพอฟังพูดได้ แต่ไม่ถนัดเขียนในเวลาจำกัด บางคนอ่านคล่องสุด ๆ แต่เขินจะพูด บางคนฟังได้ แต่เวลาอ่านภาษาอังกฤษช้ามาก ตัวคะแนนสอบที่แยกมาตามทักษะฟัง พูด อ่าน และเขียน จะช่วยให้เราโฟกัสได้ว่าเราควรจะใช้เวลาที่เหลือไปกับการฝึกฝนด้านไหนเป็นพิเศษ แทนที่จะติวรวมไปทุกด้าน


ประการที่สอง- เราสามารถส่งผลคะแนนภาษาของเราไปให้สถาบันในออสเตรเลียที่ต้องการสมัครช่วยประเมิน และออกแบบแผนการเรียนเพื่อปรับพื้นฐานได้ด้วย อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจะแนะนำหลักสูตรที่เหมาะสม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำที่ควรเรียนภาษาก่อนเข้าเรียนวิชาชีพ/อุดมศึกษาได้ด้วย


นักเรียนไทยส่วนมากที่ลงเรียนภาษาอย่างเดียวมักจะสมัครเฉพาะหลักสูตรภาษาอังกฤษทั่วไป (General English / GE) ซึ่งเป็นภาษาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวันในระดับพื้นฐาน เรียนไปเลื่อนระดับไปเรื่อย ๆ แต่แผนการเรียนที่สถาบันประเมินให้นั้น จะวางแผนให้เป็นขั้นตอน เรียน GE จบแล้วเลื่อนไปเรียน Business English มั้ย หรือวัยเรียนอาจลองเลื่อนไปเรียน Academic English แทน ใครแพลนสอบภาษาก็มี IELTS / Cambridge Preparation ให้เลือก แถมบางสถาบันยังมีหลักสูตรเฉพาะด้านที่น่าสนใจอย่าง Pronunciation, English for Creative Business, etc.


นอกจากนี้แผนการเรียนที่สถาบันออกแบบให้ยังช่วยเรื่องระยะเวลาหลักสูตรที่เหมาะสมด้วย ถ้าเราไม่ทราบว่าต้องเรียนอีกนานแค่ไหนถึงจะพัฒนาไปเป้าหมายคะแนนที่ต้องการ ถ้าสมัครสั้นไป, สุดท้ายต้องเรียนภาษาต่อก็เสียค่าสมัครวีซ่าอีก ถ้าสมัครยาวไป, ก็เปลืองค่าเรียนภาษาส่วนที่ไม่จำเป็น แถมก็พาลจะเบื่อคลาสเรียนไปซะอีก ถ้าเรามีแผนการเรียนที่ทางสถาบันออกแบบมาให้ ก็จะมีเป้าหมายที่ชัดเจน มีกำลังใจในการตั้งใจเรียนให้บรรลุวัตถุประสงค์นั่นเอง


สาเหตุสำคัญอีกประการที่แแนะนำให้สอบ IELTS ก่อนยื่นวีซ่าคือเรื่องความคุ้มค่า เพราะต้องยอมรับว่าค่าใช้จ่ายในการสมัครเรียนต่างประเทศไม่ใช่น้อย ๆ อย่างน้อยก็หลักหมื่นหลักแสน ไหนจะมัดจำค่าเรียน ค่าประกันสุขภาพ ค่าวีซ่า ค่าตรวจสุขภาพ ยังไม่รวมค่ากินอยู่ระหว่างเรียน ถึงแม้กรณีวีซ่าไม่ผ่านเราจะได้ค่าเรียนและค่าประกันคืนเต็มก็เถอะ ความต่างของอัตราแลกเปลี่ยน ค่าวีซ่าที่เสียไปฟรี ๆ ก็น่าเสียดายอยู่ดี ถ้าการลงทุนค่าสอบประมาณ 7xxx บาท จะช่วยลดความเสี่ยงจากการปฏิเสธวีซ่าที่จะติดเป็นประวัติ แถมลดความเสี่ยงที่ต้องมาเสียค่าวีซ่าและเสียเวลาเพื่อลองสมัครใหม่อีกครั้ง ก็น่าจะคุ้มค่ากว่ามาก


ผลวีซ่าแต่ละครั้งไม่ว่าผ่านหรือปฏิเสธ จะมีผลกับการพิจารณาใบสมัครวีซ่าทุกประเภทในอนาคตเสมอ เพราะจะมีบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลของสถานทูต ดังนั้นขั้นตอนการวางแผน เตรียมตัว และเตรียมเอกสารต่าง ๆ จึงอาจใช้เวลาอยู่บ้างเพื่อลดความเสี่ยงทั้งหมดที่สามารถหลีกเลี่ยงได้


บริการให้คำแนะนำและวางแผนสมัครเรียนของ Hub 101 นั้นพิจารณาจากข้อมูลและเอกสารหลักฐาน ตลอดจนความต้องการของนักเรียนรายบุคคล โดยทางทีมงานจะแจ้งความเสี่ยง (ถ้ามี) และวิธีแก้ไขหรือลดความเสี่ยงให้กับนักเรียนก่อนดำเนินการสมัครวีซ่า ซึ่งรายละเอียดและระยะเวลาการเตรียมตัวอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเคส ทั้งนี้เพื่อมั่นใจว่าการสมัครวีซ่าในแต่ละครั้งนั้นเป็นการเตรียมเอกสารหลักฐานที่พร้อมและ 'แน่น' ที่สุด โดยวางเป้าหมายให้นักเรียนสามารถเดินทางไปศึกษาต่อและหาประสบการณ์ได้ตามความตั้งใจนั่นเอง


 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Hub 101 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ทุกวัน ปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

Tel: 081 441 8448

Line ID: hub101study

Instagram: hub_101_study

bottom of page