หลังการประกาศเปลี่ยนแปลงเกณฑ์คะแนนภาษาสำหรับยื่นวีซ่านักเรียนออสเตรเลียเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักเรียนหลายคนหลังไมค์เข้ามาถามเรื่องการเตรียมตัวสอบภาษา หลายคนยังเข้าใจว่าต้องสอบเฉพาะ IELTS เท่านั้น แต่อันที่จริงแบบทดสอบภาษาอังกฤษที่ได้รับการยอมรับจากสถาบันการศึกษารวมทั้ง Immigration ของออสเตรเลียอีกอย่าง คือ #PTEPearsonTest
นักเรียนไทยในออสเตรเลียหลายคนน่าจะพอคุ้นเคยกับเทสตัวนี้อยู่บ้าง ส่วนนักเรียนในไทยหลายคนอาจไม่ค่อยคุ้นชื่อเท่าไหร่นัก วันนี้เรามาทำความรู้จัก PTE Pearson Test หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า PTE อีกหนึ่งทางเลือกแบบทดสอบภาษาที่อาจจะช่วยให้หลายคนก้าวข้ามความกังวลเรื่องนี้ไปได้
ก่อนอื่นต้องบอก PTE เป็นแบบทดสอบภาษาอังกฤษที่วัดผลทักษะ 4 ด้านเหมือน IELTS และ TOEFL คือ การฟัง การอ่าน การพูด และการเขียน รูปแบบของข้อสอบจะเป็นการทำผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งหมด โดยใช้ระยะเวลาทั้งหมดราว 2 ชั่วโมงเท่านั้น ประเภทของ PTE ก็แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ แต่ในที่นี้เราจะพูดถึง #PTEAcademic ซึ่งเป็นแบบทดสอบที่สำหรับยื่นสมัครวีซ่านักเรียนทั้งประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้
รูปแบบข้อสอบแบ่งเป็น 3 พาร์ท คือ
Speaking & Writing กำหนดเวลาราว 1 ชั่วโมง
Reading กำหนดเวลาราว 30 นาที
Listening กำหนดเวลาราว 30 นาที
พาร์ทแรก (Speaking & Writing) - การพูดและการเขียนเป็นพาร์ทที่ยาวที่สุดของแบบทดสอบ รูปแบบคำถามจะมีทั้งหมด 7 ประเภท คือ
1.1-Personal Introduction | การแนะนำตัว
คำถามนี้จะไม่มีการให้คะแนน ถือเป็นช่วงเวลาที่ผู้สอบได้ทำความคุ้นเคยกับระบบของ PTE เท่านั้น ผู้สอบจะมีเวลา 25 วินาทีในการอ่านคำถาม และอีก 30 วินาทีในการพูดคำตอบของตัวเองผ่านระบบอัดเสียงอัตโนมัติ ทั้งนี้จะมีโอกาสได้พูดคำตอบเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
1.2-Read Aloud | การอ่านออกเสียง
ความยาวของประโยคที่ให้มาจะไม่เกิน 60 คำ ถือเป็นการวัดผลทั้งทักษะการอ่านและการพูด ระยะเวลาที่กำหนดสำหรับการตอบจะขึ้นอยู่กับความยาวของแต่ละคำถาม
รูปแบบหลักของคำถามคือ หน้าจอจะขึ้นประโยคภาษาอังกฤษให้ พร้อมนาฬิกาจับเวลาถอยหลัง เมื่อหมดเวลาจะมีสัญญาณดังขึ้น จากนั้นผู้สอบจะมีเวลาประมาณ 30-40 วินาทีในการอ่านออกเสียงประโยคดังกล่าวให้ระบบอัดเสียง ข้อควรระวังคือ หากผู้สอบเงียบเกิน 3 วินาทีในระหว่างตอบ ระบบจะหยุดอัดเสียงทันที
1.3-Repeat Sentence | การพูดตาม
ข้อนี้เป็นการวัดผลการฟังและการพูด ระยะเวลาที่กำหนดสำหรับการตอบจะขึ้นจะอยู่ที่ราว 15 วินาทีต่อข้อ
ระบบจะเล่นเสียงพูดต้นฉบับให้ฟัง 1 ครั้งเท่านั้น จากนั้นหน้าจอขึ้นสถานะว่า Recording โดยไม่มีเสียงสัญญาณ ผู้สอบจะต้องพูดภาษาอังกฤษตามต้นฉบับทันที เมื่อหมดเวลาสถานะจะเปลี่ยนเป็น Completed
1.4-Describe Image | อธิบายภาพ/กราฟ
ข้อนี้จะวัดผลการพูดล้วน ๆ โดยมีเวลาอัดเสียงคำตอบข้อละราว 40 วินาที
หน้าจอจะขึ้นภาพหรือกราฟ พร้อมตัวเลขนาฬิกานับถอยหลัง 25 วินาที เพื่อให้ผู้สอบมีเวลาเตรียมตัว เมื่อหมดเวลาจะมีเสียงสัญญาณ ผู้สอบจะมีเวลา 40 วินาทีในการพูดอธิบายภาพที่เห็น ระยะเวลาการอัดเสียงระบบจะขึ้นสถานะ Recording และ Completed เมื่อหมดเวลา
1.5-Retell Lecture | การสรุปเลคเชอร์
ข้อนี้ต้องอาศัยทักษะการฟังและการพูดเป็นหลัก โดยผู้สอบจะมีเวลาราว 40 วินาทีในการอัดเสียงคำตอบ ใครที่พอมีประสบการณ์ในการจับใจความมาบ้าง ก็น่าจะพอได้เปรียบในข้อนี้
ระบบจะเล่นคลิปเสียงการเลคเชอร์อัตโนมัติ โดยอาจมีภาพประกอบการบรรยายด้วย เมื่อจบคลิป ผู้สอบจะมีเวลา 10 วินาทีในการประมวลผลและเตรียมคำตอบ ซึ่งระบบจะขึ้นนาฬิกาถอยหลังและเสียงสัญญาณให้ก่อนเริ่มขั้นตอนการอัดเสียง
1.6-Answer Short Question | การตอบคำถามสั้น ๆ
ระบบจะเล่นคลิปเสียงพร้อมคำถามสั้น ๆ เมื่อจบคลิปจะมีเสียงสัญญาให้ผู้สอบพูดคำตอบภายในระยะเวลาประมาณ 10 วินาที นอกจากวัดทักษะการพูดและฟังแล้ว ใครที่พอมีคลังคำศัพท์ในหัวก็น่าจะได้เปรียบพอประมาณ
1.7-Summarise Written Text | สรุปเนื้อหาในประโยคเดียว
ข้อนี้ถือว่าประเมินทักษะการอ่านและเขียนแบบเต็มระบบ คำถามจะเป็นข้อความยาวไม่เกิน 300 คำ โดยผู้สอบมีเวลา 10 นาทีในการอ่านและสรุปเนื้อหาทั้งหมดออกมาเป็นประโยคที่สมบูรณ์ 1 ประโยค ความยาวไม่เกิน 75 คำ
ข้อสอบยังพอใจดีมีระบบนับคำขึ้นให้ที่ด้านล่างหน้าจอ นอกจานี้ผู้สบอยังสามารถใช้ฟังก์ชั่น copy / paste / cut ได้ด้วย ใครที่พอจะคล่องการใช้คอมพิมพ์งาน น่าจะพอได้เปรียบในจุดนี้
1.8-Essay | เขียนเรียงความ
ผู้สอบจะต้องเขียนเรียงความ ความยาว 200-300 คำ ภายในเวลา 20 นาที ตามหัวข้อที่กำหนด
พาร์ทสอง (Reading) - การอ่าน กำหนดเวลาประมาณ 30 นาที ทั้งนี้ต้องบอกก่อนว่าการสอบ PTE เป็นประเมินผลแบบบูรณนาการ ดังนั้นถึงแม้ชื่อพาร์ทจะบอกว่าเป็น Reading แต่ก็สามารถวัดผล Writing ได้ด้วยเช้นเดียวกัน รูปแบบคำถามในพาร์ทนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภท คือ
2.1- Reading & Writing: Fill in the Blanks | การเติมคำในช่องว่าง
ระบบจะขึ้นเนื้อหาภาษาอังกฤษความยาวไม่เกิน 300 คำ โดยจะมีการเว้นว่างคำบางคำไว้ ผู้สอบจะต้องเติมคำในช่องว่างให้ถูกต้อง โดยเลือกจาก 1 ใน 4 ตัวเลือกที่ให้มา
2.2- Multiple Choice, Multiple Answer | ข้อสอบปรนัย แบบมีคำตอบมากกว่า 1 ข้อ
ระบบจะขึ้นเนื้อหาภาษาอังกฤษความยาวไม่เกิน 300 คำ ผู้สอบจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากตัวเลือกทั้งหมด ซึ่งจะมีคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า 1 ข้อ
2.3- Re-order Paragraphs | การจัดเรียงย่อหน้าให้ถูกต้องตามลำดับ
ระบบจะแสดงกล่องข้อความ แต่ละกล่องจะมีเรียงความ 1 ย่อห้า ผู้สมัครจะต้องจัดเรียงกล่องข้อความแต่ละกล่องให้ถูกต้องตามลำดับ ทั้งนี้ข้อความทั้งหมดจะมีความยาวไม่เกิน 150 คำเท่านั้น
2.4- Fill in the Blanks | การเลือกเติมคำในช่องว่าง
ระบบจะขึ้นเนื้อหาภาษาอังกฤษความยาวไม่เกิน 80 คำ โดยมีการเว้นว่างคำในเนื้อหาหลายจุด ผู้สอบจะต้องเลือกคำศัพท์ที่ถูกต้องจากด้านล่างของหน้าจอมาเติมลงในช่องว่างให้ถูกต้อง ข้อควรระวังคือคำศัพท์ที่มีให้จะมีจำนวนมากกว่าช่องว่าง ดังนั้นอาจมีตัวเลือกหลอกมาให้ด้วย
2.5- Multiple Choice, Single Answer | ข้อสอบปรนัย แบบมีคำตอบเดียว
ผู้สอบจะต้องอ่านบทความยาวไม่เกิน 300 คำ จากนั้นเลือกคำตอบที่ถูกต้องซึ่งมีเพียงคำตอบเดียวจากตัวเลือกทั้งหมด พูดง่าย ๆ คือเป็นข้อสอบช้อยส์ที่นักเรียนไทยคุ้นเคยกันนั่นแหละ
พาร์ทสาม (Listening) - การฟัง รูปแบบคำถามจะประกอบด้วยคลิปเสียงและวิดีโอเป็นหลัก ใช้เวลาในการทดสอบประมาณ 30-45 นาทีโดยประมาณ โดยคลิปแต่ละคลิปจะเริ่มเล่นตามระบบอัตโนมัติ ผู้สอบสามารถโน้ตข้อความในระหว่างการฟังได้ รูปแบบข้อสอบแบ่งเป็น 8 ประเภท คือ
3.1- Summarize Spoken Text | การสรุปบทพูด
ข้อนี้จะวัดผลทั้งการฟังและการเขียน เพราะระบบจะเล่นคลิปเสียงการเลคเชอร์สั้น ๆ จากนั้นผู้สอบต้องพิมพ์สรุปเนื้อหาความยาว 50-70 คำภายในระยะเวลา 10 นาที
3.2- Multiple Choice, Multiple Answers | ข้อสอบปรนัย แบบมีคำตอบมากกว่า 1 ข้อ
ระบบจะเล่นคลิปเสียง พร้อมแสดงคำถามในหน้าจอ ผู้สอบจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากตัวเลือกทั้งหมด คำตอบที่ถูกต้องมีมากกว่า 1 คำตอบ
3.3- Fill in the Blanks | การเลือกเติมคำในช่องว่าง
ระบบจะเล่นคลิปเสียง และแสดงข้อความที่ถอดออกมาด้านล่าง โดยเว้นคำศัพท์ในหลายจุดไว้ ผู้สอบจะต้องฟังและเติมคำที่ถูกต้องลงในช่องว่าง
3.4- Highlight Correct Summary | เลือกประโยคสรุปที่ถูกต้อง
ระบบจะเล่นคลิปเสียง และแสดงตัวเลือกประโยคสรุปเนื้อหาด้านล่าง ผู้สอบจะต้องเลือกประโยคที่สรุปเนื้อหาของคลิปเสียงที่ถูกต้อง
3.5- Multiple Choice, Single Answer | ข้อสอบปรนัย แบบมีคำตอบเดียว
ระบบจะเล่นคลิปเสียง และแสดงคำถามพร้อมตัวเลือกคำตอบ ผู้สอบจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้อง ซึ่งมีเพียงคำตอบเดียว
3.6- Select Missing Word | เลือกคำที่หายไป
ระบบจะเล่นคลิปเสียง โดยบางส่วนของคลิปจะถูกแทนที่ด้วยเสียง ‘บี๊บ’ ผู้สอบจะต้องเลือกคำตอบที่ถูกต้องจากตัวเลือกที่กำหนดเพื่อแทนที่คำที่หายไป
3.7- Highlight Incorrect Words | เลือกคำที่ผิด
ระบบจะเล่นคลิปเสียง และแสดงข้อความที่ถอดออกมาด้านล่าง ทั้งนี้จะมีคำศัพท์บางคำที่แตกต่างไปจากคลิปเสียงต้นฉบับ ผู้สอบจะต้องระบุคำที่ต่างไปจากคลิปเสียงให้ได้ ข้อนี้ถือเป็นการประเมินทั้งทักษะการฟังและการอ่านในเวลาเดียวกัน
3.8- Write from Dictation | การเขียนตามคำบอก
ระบบจะเล่นคลิปเสียงสั้น ๆ ผู้สอบจะต้องพิมพ์ประโยคที่ได้ยินให้ถูกต้อง ทั้งนี้ในระหว่างการฟัง ผู้สอบสามารถจดโน้ตในหน้าจอได้ ข้อควรระวังในข้อนี้คือการสะกดคำให้ถูกต้อง ถือเป็นการวัดผลการเขียนไปในตัวด้วย
เอาล่ะค่ะ, ทำความรู้จักรูปแบบข้อความที่สุดแสนจะหลากหลายของ PTE ไปแล้ว จะเห็นได้ว่าการทำข้อสอบแต่ละพาร์ทไม่ได้แยกการประเมินทักษะแต่ละอย่างออกจากกันอย่างเด็ดขาด ถือเป็นข้อดีอย่างนึงเพราะสามารถประเมินผลค่าเฉลี่ยของนักเรียนได้อย่างสมจริงมากขึ้น จะมีความท้าทายบ้างเล็กน้อยสำหรับคนที่ไม่คุ้นกับการพิมพ์ภาษาอังกฤษบนคีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์
แต่ไม่ต้องกลัวนะคะ เพราะวันนี้ Hub 101 มีลิ้งค์ตัวอย่างข้อสอบ PTE ให้สามารถลองเข้าไปทำได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายมาฝากเหมือนเดิม ถ้าสามารถทำได้ แนะนำว่าลองทำในคอมพิวเตอร์หรือโน้ตบุ๊คที่มีคีย์บอร์ดขนาด full size เลยก็จะดี เพราะจะได้เป็นการซ้อมพิมพ์ภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว การทำข้อสอบภาษาอังกฤษนอกจากทักษะภาษาต้องได้ระดับนึงแล้ว ความคุ้นชินในการใช้เทคโนโลยี และความเร็วในการพิมพ์ก็มีส่วนด้วยเหมือนกัน เพราะที่สุดแล้วการทำแบบทดสอบทุกอย่างมีการจับเวลา หากเราไม่สามารถบริหารเวลาหรือส่งคำตอบได้ภายในเวลาที่กำหนด ก็คงน่าเสียดายน่าดู เพราะฉะนั้นแล้วอย่าลืมลองเข้าไปทำเทสฟรีเพื่อซ้อมมือกันน้า
ตัวอย่างข้อสอบ PTE
ปัจจุบันศูนย์สอบ PTE ในไทยจะมีอยู่ 2 ที่ คือ
Pearson Professional Centers - Bangkok ชั้น 10 BB Building (ฺBTS อโศก ทางออก 4 / MRT เพชรบุรี ทางออก 2 / MRT สุขุมวิท ทางออก 2)
มหาวิทยาลัยบูรพา ชลบุรี ชั้น 4 อาคารประยูร จินดาประดิษฐ์ (อาคาร 50 ปี)
ตารางสอบของทั้ง 2 ศูนย์มีทุกสัปดาห์ ๆ ละ 2-5 วัน และที่สำคัญคือ ทราบผลสอบภายใน 2 วันทำการ
นอกจากข้อดีของวันจัดสอบที่มีค่อนข้างบ่อย รอผลไม่นาน แถมยังเป็นการสอบแบบบูรณาการทักษะหลายด้านรวมเข้าด้วยกัน ผลสอบของ PTE ยังวัดผลค่อนข้างละเอียด ผู้สอบสามารถตรวจสอบได้ว่าตนเองมีคะแนนสูงต่ำในพาร์ทไหนเป็นพิเศษรึเปล่า ช่วยให้เตรียมตัวเพิ่มได้ตรงจุดมากขึ้ในนกรณีที่คะแนนยังจากที่ต้องการ ต่างจากการสอบ IELTS และ TOEFL ที่ทราบเพียงคะแนนรวมและคะแนนแต่ละทักษะเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสอบ PTE - https://www.pearsonpte.com/pte-academic
อย่าลืมกดติดตามเพจ Hub 101 เพื่อคราวหน้าจะได้ไม่พลาดข้อมูลดี ๆ ที่เอามาแบ่งปันกันนะคะ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกับ Hub 101 ผ่านช่องทางต่างๆ ได้ทุกวัน ปรึกษาฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ
Tel: 081 441 8448 Line ID: hub101study Facebook: facebook.com/Hub101StudyInAustralia Instagram: @hub_101_study
Opmerkingen